วันอาทิตย์

วิธีการทำแนวและอุดแนวบริเวณรอยร้าว (Routing และ Sealing) สำหรับการซ่อมแซมโครงสร้างคอนกรีตเพื่อให้รับน้ำหนักได้ดังเดิม

การทำแนวและอุดแนวบริเวณรอยร้าว (Routing และ Sealing)

     วิธีการนี้ประกอบด้วยการทำแนวตามรอยร้าวให้มีขนาดใหญ่กว่ารอยร้าวที่ปรากฎอยู่และอุดแนวนั้นด้วยวัสดุที่เหมาะสมดังรูปที่ 1 หากไม่ทำแนวอาจทำให้การซ่อมได้ผลไม่ถาวร วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดและใช้มากสำหรับการซ่อมรอยร้าวที่หยุดขยายตัวแล้ว และรอยร้าวที่อยู่ระดับตื้น (รอยร้าวลึกไม่ถึงระดับเหล็กเสริม)

1.วัสดุ
1.1 วัสดุ ให้เลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติ อีพอกซีเรซิน หรือ ซีเมนต์เกร้าท์ชนิดไม่หดตัว
1.2 วัสดุปิดแนวที่ใช้อาจเลือกใช้ประเภทไหนก็ได้ขึ้นอยู่กับความแน่นหรือความคงทนถาวรที่ต้องการ ประเภทที่นิยมใช้คือส่วนประกอบของ อีพอกซีเรซิน
1.3 วัสดุปิดแนวแบบเทขณะร้อนเหมาะที่สุดสำหรับกรณีที่ไม่จำเป็นต้องซ่อมแนวรอยแตกเพื่อให้ทึบน้ำหรือให้มีความสวยงาม
1.4 การใช้สารประเภทยูเรเทน พบว่าเหมาะสำหรับรอยร้าวขนาดกว้างถึง 19 มิลลิเมตร(EM 1110-2-2002) และลึกพอสมควร เพราะเป็นวัสดุที่คงความยืดหยุ่นอยู่ได้ในช่วงอุณหภูมิที่ต่างกันมาก


2.การใช้งานและข้อจำกัด
2.1 วิธีการนี้ใช้ได้เหมาะสมสำหรับรอยร้าวที่หยุดขยายตัว และอยู่ในโครงสร้างที่ไม่มีความสำคัญมากนัก
2.2 วิธีการนี้สามารถใช้ได้ทั้งกับรอยร้าวขนาดเล็กที่มีจำนวนมากและรอยร้าวขนาดใหญ่ที่อยู่แยกห่างจากกัน
2.3 ไม่ควรใช้ซ่อมรอยร้าวที่ยังไม่หยุดขยายตัวหรือรอยแตกที่อยู่บนโครงสร้างที่รับแรงดันน้ำ อย่างไรก็ตามวิธีการนี้สามารถใช้ชะลอการไหลของน้ำในการซ่อมรอยร้าวของโครงสร้างด้านที่รับแรงดันน้ำ
2.4 การปิดรอยร้าวด้วยวัสดุปิ ดแนว มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปถึงเหล็กเสริม (2) ป้องกันไม่ให้เกิดแรงดันน้ำที่แนวรอยร้าว (3) ป้องกันไม่ให้ผิวคอนกรีตเกิดรอยสกปรก หรือ (4) ป้องกันไม่ให้ความชื้นจากอีกด้านของโครงสร้างซึมผ่านรอยร้าวเข้ามาได้ วิธีการติดตั้งวัสดุปิ ดแนวขึ้นอยู่กับประเภทของวัสดุที่ใช้

3.ขั้นตอนการซ่อม
3.1 การทำแนวสำหรับการซ่อม
ตัดคอนกรีตตามแนวรอยร้าวด้วยเลื่อยหรือเครื่องมือที่เหมาะสมอื่น ๆ เพื่อเปิดรอยร้าวให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการอุดปิดด้วยวัสดุปิดแนว (Sealant) อย่างน้อยควรกว้าง 6 มิลลิเมตร เพราะหากแคบกว่านี้อาจไม่สามารถเติมวัสดุปิดแนวได้สะดวก ควรทำความสะอาดผิวหน้าของแนวรอยร้าวและปล่อยให้แห้งก่อนการซ่อม

3.2 การเตรียมผิวรอยร้าว
(1) ผิวรอยร้าวต้องสะอาดและปราศจากสิ่งแปลกปลอมที่อาจส่งผลเสียต่อความสามารถในการยึดติดระหว่างวัสดุปิดแนวกับผิวรอยร้าว หรืออาจทำให้การยึดติดไม่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ วิธีการเตรียมแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
ก. การเตรียมผิวโดยทั่วไป เป็นการกำจัดสิ่งแปลกปลอมซึ่งรวมถึงการล้างทำความสะอาดเศษสิ่งสกปรกที่เกิดจากการตัด และการปัดทำความสะอาดผิวคอนกรีตด้วยแปรงลวด หรือการทำแนวรอยต่อโดยใช้น้ำและเป่าด้วยลมให้แห้ง
ข. การเตรียมผิวโดยวิธีพิเศษ ทำโดยการพ่นด้วยทราย เพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมออก แม้การพ่นด้วยทรายจะมีราคาแพง แต่ก็เป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลดีและควรใช้โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องใช้วัสดุปิดแนวราคาสูงประเภทแข็งตัวด้วยอุณหภูมิหรือการบ่มด้วยสารเคมีที่ติดตั้งหน้างาน
(2) ต้องซ่อมแซมความผิดปกติที่ผิวรอยต่อคอนกรีตเนื่องจากมวลรวมที่ใกล้หลุดร่อน สิ่งแปลกปลอมที่ฝังตัวอยู่ในเนื้อคอนกรีต และเนื้อคอนกรีตที่หลุดร่อนจากการรับแรงอัด ในการทำความสะอาดครั้งสุดท้ายอาจใช้แปรงขัดแต่ควรใช้ลมเป่า (ที่ปราศจากน้ำมันปนเปื้อน) หรือใช้เครื่องดูดฝุ่นจะให้ผลดีกว่า

รูปที่ 1 วิธีการซ่อมแซมแบบทำแนวและอุดแนวบริเวณรอยแตก (Routing และ Sealing)

3.3 การตรวจสอบความเรียบร้อยก่อนการติดตั้ง
(1) ก่อนการติดตั้งวัสดุปิดแนวให้ตรวจสอบทุกแนวรอยร้าวเพื่อให้มั่นใจว่าแนวรอยร้าวนั้นสะอาดและแห้งก่อนการติดตั้งวัสดุสำหรับรองรับวัสดุปิดแนว การทารองพื้นหรือการติดตั้งวัสดุปิดแนว
(2) ควรวัดความกว้างของแนวรอยร้าวเพื่อหาปริมาณวัสดุที่ใช้ซ่อม และพิจารณาความเหมาะสมของวัสดุที่จะใช้

3.4 การทารองพื้นโดยใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติตาม ประเภทสารเชื่อมประสาน
(1) การทารองพื้นนั้นจำเป็นสำหรับการทำงานกับผิววัสดุที่มีความพรุนของผิว เช่น คอนกรีต ไม้ และพลาสติก เพื่อให้วัสดุปิดแนวที่ติดตั้งหน้างานยึดติดได้ดี
(2) การทาด้วยแปรงอาจต้องใช้ความระมัดระวังโดยต้องแปรงเอาวัสดุรองพื้นส่วนเกินออกเพื่อให้มั่นใจว่าวัสดุปิดแนวจะยึดเกาะผิวคอนกรีตได้อย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง มิฉะนั้นการติดตั้งอาจไม่ประสบผลสำเร็จได้ สำหรับแนวรอยต่อแนวราบ การพ่นสารรองพื้นอาจเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่า
(3) สารรองพื้นส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาปล่อยให้แห้งก่อนการติดตั้งวัสดุปิดแนวหากไม่ปล่อยให้แห้งก่อนอาจทำให้วัสดุปิดแนวยึดติดได้ไม่ดี
(4) การติดตั้งวัสดุรองรับวัสดุปิดแนว หรือ วัสดุคั่น (Bond Breakers) ต้องมีการกำหนดตำแหน่งด้วยมือก่อนการติดตั้งวัสดุปิดแนวโดยต้องติดตั้งไว้ที่ความลึกที่เหมาะสมและป้องกันไม่ให้เกิดการบิดหรือไม่ให้แนวรอยร้าวที่เตรียมไว้สกปรก

3.5 การผสมและติดตั้งวัสดุปิดแนว
(1) การผสมวัสดุปิดแนว
การผสมวัสดุปิดแนว ต้องผสมวัสดุปิดแนวอย่างทั่วถึง หากมีปริมาณวัสดุปิดแนวมากพอสมควร อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือผสมแบบใช้แรงกล แต่หากปริมาณไม่มากอาจใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าแบบมือถือได้ หากมีปริมาณมากต้องใช้เครื่องมือผสมที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เช่น โม่ เป็นต้น
(2) การติดตั้งวัสดุปิดแนวประเภทพอลิเมอร์
การติดตั้งวัสดุปิดแนวประเภทพอลิเมอร์ที่หน้างาน วัสดุปิดแนวจะถูกอัดด้วยแรงดันออกมาจากปลายหัวฉีดซึ่งมีขนาดและรูปร่างเหมาะสมในการอัดวัสดุปิดแนวในปริมาณที่พอดีลงในแนวรอยต่อ อุปกรณ์สำหรับการติดตั้ง คือ ปืนยิงวัสดุปิดแนวประกอบภาชนะใส่วัสดุปิดแนวที่บรรจุสำเร็จกับปืนยิงเมื่อต้องการใช้งาน หรือใช้วัสดุปิดแนวที่เตรียมไว้หรือที่ผสมไว้ (ในกรณีที่วัสดุปิดแนวมีส่วนผสมสองชนิด) ในภาชนะต่างหากและบรรจุในปืนสำหรับฉีดที่หน้างานทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของงาน ซึ่งอาจเลือกใช้อุปกรณ์ที่ซับซ้อนกว่านี้ เช่น อุปกรณ์ที่ส่วนผสมสองชนิดผ่านท่อแยกกันสองสายและมาผสมกันบริเวณ หัวฉีดซึ่งมีภาชนะขนาดเล็กบรรจุไว้ ก่อนที่จะถูกอัดฉีดเพื่อยาแนวรอยต่อ การฉีดอาจใช้แรงดันจากเครื่องสูบแบบอัดอากาศหรือก๊าซก็ได้

3.6 ขั้นตอนวิธีการซ่อมแซมแบบทำแนวและอุดแนวบริเวณรอยร้าว (Routing และ Sealing) สามารถสรุปได้ดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 ขั้นตอนวิธีการซ่อมแซมแบบทำแนวและอุดแนวบริเวณรอยร้าว (Routing และ Sealing)