วันอาทิตย์

คำศัพท์ คำนิยาม เกี่ยวกับคอนกรีต และสารประกอบอื่น ที่ควรรู้จัก

คำศัพท์ คำนิยาม เกี่ยวกับคอนกรีต อาการ และสารประกอบอื่น ที่ควรรู้จัก 

1.“การกัดกร่อน (Corrosion)” หมายถึง การที่โลหะถูกทำลายโดยการกัดกร่อนทางเคมี ทางการแลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้าในปฏิกริยาเคมี การเกิดปฏิกริยาทางไฟฟ้าในการแลกเปลี่ยนประจุกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว

2.“การซ่อมแซม (Repair)” หมายถึง การเปลี่ยนหรือการแก้ไข ส่วนของโครงสร้างที่ถูกทำลายหรือเสียหาย

3.“การซ่อมแซมส่วนที่เป็นโครงสร้างหลัก (Structural Repair)” หมายถึง การซ่อมแซมโครงสร้างที่มีการทำขึ้นมาใหม่หรือการเสริมเพิ่มให้โครงสร้างมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น

4.“การซ่อมแซมส่วนที่ไม่เป็นโครงสร้างหลัก (Non-Structural Repair)” หมายถึง การซ่อมแซมเฉพาะส่วนที่เสียหายที่ไม่มีผลกระทบกับความแข็งแรงของโครงสร้างหลัก

5.“การดาด (Lining)” หมายถึง การปรับปรุงผิวของโครงสร้างด้วยคอนกรีตหรือวัสดุอื่นๆ เพื่อให้เกิดผิวที่คงตัวแข็งแรงหรือสามารถทนการกัดกร่อนขัดสีจากการไหลผ่านของน้ำ

6.“การป้องกันความชื้น (Damp Proofing)” หมายถึง วิธีการป้องกันไม่ให้น้ำผ่านหรือซึมผ่านคอนกรีตหรือปูนมอร์ต้าร์ เช่น การผสมสารผสมเพิ่ม (Admixture) หรือปรับปรุงคุณสมบัติของปูนซีเมนต์ การสร้างฟิล์มกันชื้นด้วยการใช้แผ่นพอลิเอทธิลีน (Polyethylene) ปูรองพื้นก่อนเทพื้นคอนกรีต

7.“การป้องกันความเสียหาย (Protection)” หมายถึง กระบวนการที่จะปิดบังไม่ให้โครงสร้างคอนกรีตได้รับความเสียหายจากสภาพแวดล้อมหรือจากสภาพที่ตั้งใจจะป้องกันเพื่อให้โครงสร้างคอนกรีตนั้นมีอายุใช้งานได้ยาวนาน

8.“การสกัดเปิดผิว (Excavation)” หมายถึง ขั้นตอนในการเปิดผิวคอนกรีตที่ถูกทำลายจนถึงเนื้อคอนกรีตที่ดีหรือจนถึงระดับที่กำหนด

9.“ความเสียหายคะวิเทชั่น (Cavitation Damage)” หมายถึง หลุมเล็กๆ บริเวณผิวคอนกรีตซึ่งเกิดจากการสลายตัวของละอองไอน้ำในน้ำซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณที่มีความดันต่ำ และสลายตัวเมื่อเคลื่อนที่ไปยังบริเวณที่มีความดันสูงกว่า

10.“พอลิเมอร์คอนกรีต (Polymer Concrete)” หมายถึง คอนกรีตที่ใช้พอลิเมอร์เพื่อเป็นวัสดุประสาน

11.“พอลิเมอร์ซีเมนต์คอนกรีตและมอร์ต้าร์ (Polymer Cement Concrete and Mortar)” หมายถึง คอนกรีตหรือมอร์ต้าร์ที่มีส่วนผสมของน้ำ ปูนซีเมนต์ มวลรวม และ โมโนเมอร์หรือพอลิเมอร์ ในกรณีที่ใช้โมโนเมอร์จะทำปฏิกิริยาการเกิดพอลิเมอร์ (Polymerization) หลังจากผสม

12.“ระบบการซ่อมแซม (Repair System)” หมายถึง การซ่อมแซมโครงสร้างคอนกรีตโดยการเลือกใช้วัสดุพิเศษและวิธีการที่เหมาะสม

13.“รอยร้าวที่มีรูปแบบที่แน่นอน” หมายถึง รอยร้าวที่เกิดขึ้นที่มีลักษณะเป็นรูปแบบเดียวกันหรือซ้ำๆกันในหลายๆบริเวณของโครงสร้างคอนกรีต

14.“รอยร้าวที่ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน” หมายถึง รอยร้าวที่เกิดขึ้นที่มีลักษณะแตกต่างกันไปไม่ซ้ำกันในหลายๆบริเวณของโครงสร้างคอนกรีต

15.“รอยร้าวที่ยังคงมีการขยายตัวอยู่ (Active Crack)” หมายถึง รอยร้าวที่เกิดขึ้นที่คอนกรีตที่ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นรอยร้าวกว้างขึ้นหรือลึกขึ้น รวมถึงรอยร้าวใดๆก็ตามที่กลไกหรือปฏิกิริยาของการเกิดรอยร้าวยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

16.“รอยร้าวที่หยุดการขยายตัวแล้ว (Dormant Crack)” หมายถึง รอยร้าวที่เกิดขึ้นที่คอนกรีตซึ่งไม่มีการเพิ่มขึ้นของทั้งความกว้างและความลึก หรืออาจกล่าวได้ว่ารอยร้าวดังกล่าวหยุดการขยายตัวแล้ว

17.“ลาเทกซ์แบบกระจายตัวใหม่ได้ (Redispersible Latex)” หมายถึง ลาเทกซ์ที่สามารถทาบนพื้นผิวที่จะซ่อมแซมได้หลายวันก่อนจะลงวัสดุซ่อม และมีหน่วยแรงยึดเกาะไม่น้อยกว่า 2.8 เมกาปาสกาลเมื่อแห้งลาเทกซ์ประเภทนี้ไม่ควรใช้กับบริเวณที่เปียกน้ำ ความชื้นสูง หรือกำลังใช้งาน

18.“ลาเทกซ์แบบกระจายตัวใหม่ไม่ได้ (Nonredispersible Latex)” หมายถึง ลาเทกซ์ที่เหมาะกับการยึดเกาะเมื่อใช้ผสม

19.“วัสดุคั่น (Bond Breakers)” หมายถึง วัสดุที่ใช้สำหรับกั้นรอยต่อต่างๆในการก่อสร้างเพื่อแยกวัสดุสองชนิดหรือหรือคอนกรีตที่เทในระยะเวลาที่แตกต่างกันออกจากกัน

20.“สารเชื่อมประสาน (Bonding Agent)” หมายถึง สารที่ใช้กับผิวชั้นหนึ่งๆ เพื่อสร้างการยึดเกาะหรือการเชื่อมประสานระหว่างตัวมันเองกับชั้นอื่นๆ

21.“อีพอกซีเรซิน (Epoxy Resin)” หมายถึง สารซึ่งประกอบด้วยสารละลายสองชนิดขึ้นไปที่ทำปฏิกิริยาแล้วทำให้เกิดเจลหรือตะกอนแข็ง ปฏิกิริยาในสารละลายอาจเป็นปฏิกิริยาทางเคมีหรือทางเคมีฟิสิกส์ระหว่างส่วนประกอบต่างๆ ในสารละลาย หรือระหว่างส่วนประกอบในสารละลาย และสารอื่นๆในบริเวณที่เกิดปฏิกิริยา ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะลดความสามารถในการไหล และทำให้สารละลายแข็งตัวอุดช่องว่างที่มีในคอนกรีต

22.“ออโตจีเนียสฮีลลิ่ง (Autogeneous Healing)” หมายถึง พฤติกรรมของคอนกรีตที่เกิดจากการเกิดปฏิกิริยาไฮเดรชั่นอย่างต่อเนื่องของปูนซีเมนต์ ทำให้รอยแตกร้าวขนาดเล็กสามารถเชื่อมติดกันได้