วันศุกร์

การซ่อมแซมโครงสร้างคอนกรีต : การทดสอบการยึดเกาะระหว่างคอนกรีตเก่ากับวัสดุซ่อมแซม

การทดสอบการยึดเกาะระหว่างคอนกรีตเก่ากับวัสดุซ่อมแซม

1 ในการซ่อมแซมคอนกรีตสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงคือการยึดเกาะระหว่างคอนกรีตเก่ากับวัสดุซ่อมแซม ถ้าการยึดเกาะไม่ดีจะทำให้การซ่อมแซมไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นก่อนติดตั้งวัสดุซ่อมแซมจึงจำเป็นต้องทาหรือเคลือบผิวคอนกรีตเก่าด้วยน้ำยาประสานคอนกรีตโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการสั่นสะเทือนสูงพื้นที่ที่มีอากาศหรือของไหลผ่านด้วยความเร็วสูง เป็นต้น และภายหลังการซ่อมแซมแล้วเสร็จให้ทดสอบการยึดเกาะของคอนกรีต (Pull-Off test) ตามมาตรฐาน ASTM D-4541 ดังรูปที่ 1 ถึงรูปที่ 3 (โดยปกติควรทดสอบไม่น้อยกว่า 1 จุด ต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตรและอย่างน้อย 3 จุดต่องานซ่อม หรือขึ้นอยู่กับดุลพินิจของวิศวกรควบคุมงาน) (ค่าหน่วยแรงยึดเหนี่ยวระหว่างวัสดุใหม่และวัสดุเก่าควรมีค่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของกำลังรับแรงอัดประลัยของคอนกรีตเดิม)



2 ขั้นตอนการทดสอบการยึดเกาะ มีรายละเอียดดังนี้
(1) สำรวจตำแหน่งของเหล็กเสริม และกำหนดตำแหน่งของการทดสอบมิให้อยู่กับตำแหน่งของเหล็กเสริม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเหล็กเสริม
(2) เจาะผิวให้ทะลุผ่านชั้นของวัสดุซ่อมลึกลงไปถึงเนื้อคอนกรีตเดิม
(3) ติดตั้งเครื่องมือทดสอบ ซึ่งจะต้องทำการยึดขาตัวของอุปกรณ์ให้แน่น
(4) ทำการทดสอบและบันทึกผล

3 รูปแบบของความเสียหายที่พึงประสงค์ ได้แก่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ภายในเนื้อคอนกรีตเดิม
(รูปที่ 2ก) หรือภายในเนื้อวัสดุซ่อมแซม (รูปที่ 2ค) ส่วนความเสียหายที่ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นที่รอยต่อระหว่างคอนกรีตเดิมและวัสดุซ่อมแซม (รูปที่ 2ข)

รูปที่ 1 การทดสอบการยึดเกาะของคอนกรีตตามมาตรฐาน ASTM D4541 (Pull-Off Test)


รูปที่ 2 การทดสอบการยึดเกาะของคอนกรีตและการแปรผลตามมาตรฐาน ASTM D4541 (Bond Test)

รูปที่ 3 แท่งคอนกรีตที่ผ่านการทดสอบการยึดเกาะของคอนกรีต