วันอาทิตย์

การซ่อมแซมคอนกรีต : การสกัดคอนกรีตที่แตกร้าว ชำรุดเสียหาย

การสกัดคอนกรีต (Concrete Removal)

1 การซ่อมแซมคอนกรีตจำเป็นต้องสกัดคอนกรีตเดิมที่เสียหายออก เพื่อให้การซ่อมแซมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปกติแล้วจะต้องกำจัดคอนกรีตที่ไม่ดีออกให้หมดจนถึงเนื้อคอนกรีตที่แกร่ง ซึ่งบางครั้งอาจต้องสกัดคอนกรีตจนถึงแนวเหล็กเสริมคอนกรีตหรือเลยแนวเหล็กเสริมคอนกรีตก็ได้

2 การสกัดคอนกรีตที่ใช้วัตถุระเบิดหรือวิธีการทำลายที่รุนแรง (การสกัดโดยใช้เครื่องมือสกัดที่มีน้ำหนัก
เกิน 12 กิโลกรัม) จะทำให้เกิดรอยร้าวเล็กๆ ภายหลังจากการสกัดได้ จึงควรกำหนดบริเวณที่อนุญาตให้ใช้เครื่องมือสกัดที่รุนแรงได้และบริเวณที่ต้องสกัดด้วยวิธีที่ไม่รุนแรงได้แก่ การสกัดด้วยมือ เป็นต้น การสกัดคอนกรีตต้องมีการตรวจสอบและเฝ้าระวังไม่ให้ผิวคอนกรีตที่สกัดแตกร้าวก่อนจะเทคอนกรีตซ่อมแซมโดยสังเกตจากผิวคอนกรีตที่เปียกน้ำหมาดๆ จะเห็นรอยร้าวได้ชัดเจน กรณีพบรอยร้าวที่ผิวคอนกรีตต้องมีการเตรียมผิวให้เหมาะสมก่อนนำไปใช้งานต่อไป ก่อนซ่อมแซมต้องกำหนดให้มีการทดสอบผิวคอนกรีตโดย วิธีทดสอบแรงดึงบริเวณผิวคอนกรีต (Pull-Off Test) เพื่อหาความสามารถในการยึดเกาะของผิวคอนกรีตเดิมกับวัสดุที่จะใช้ซ่อมแซม

3 ข้อควรพิจารณาในการสกัดคอนกรีต
3.1 ต้องเลือกวิธีการสกัดคอนกรีตที่สามารถกำจัดคอนกรีตที่เสียหายออกได้หมด และต้องไม่ทำลายเนื้อคอนกรีตที่ดี วิธีการที่ใช้ต้องมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ปลอดภัยในการทำงาน ประหยัด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทำลายคอนกรีตที่เหลือให้น้อยที่สุด เมื่อสกัดถึงคอนกรีตที่ดีแล้วอาจใช้การทดสอบแรงดึงผิวคอนกรีต หรือการเคาะฟังเสียงเพื่อยืนยันความแกร่งของผิวคอนกรีตที่จะซ่อมแซมต่อไป
3.2 วิศวกรที่มีหน้าที่ออกแบบซ่อมแซมคอนกรีตต้องระบุวัตถุประสงค์ในการสกัดคอนกรีตให้ชัดเจน และผู้รับเหมาที่ทำหน้าที่ซ่อมแซมต้องเลือกวิธีการที่ประหยัดที่สุดที่ตอบสนองความต้องการของวิศวกร วิศวกรผู้กำหนดวิธีการซ่อมแซมคอนกรีตต้องพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับ คุณสมบัติของคอนกรีต ได้แก่ ประเภทของปูนซีเมนต์ ขนาดของวัสดุมวลรวม เพื่อจะใช้ในการเลือกวิธีการสกัดคอนกรีต และประมาณราคาค่าใช้จ่ายต่อไป
3.3 วิศวกร หรือ ผู้ควบคุมงาน ต้องประเมินความมั่นคงปลอดภัยของโครงสร้างในขณะดำเนินการสกัดหรือเตรียมพื้นผิว ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการติดตั้งนั่งร้านหรือทำค้ำยัน ให้โครงสร้างมีความมั่นคงปลอดภัยเป็นไปตามหลักวิศวกรรม

4 การเฝ้าระวังพฤติกรรมโครงสร้างและการรักษาแนวการสกัดในระหว่างการสกัดคอนกรีต
4.1 ก่อนที่จะดำเนินการสกัดคอนกรีตที่เสียหายออกจะต้องมีการประเมินการรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคารในระหว่างการสกัดคอนกรีต ได้แก่ ขนาดหน้าตัดโครงสร้างที่เล็กลง น้ำหนักของเครื่องมือ และเศษวัสดุที่เกิดจากการสกัด การขนย้ายวัสดุ การขนย้ายเครื่องมือ เป็นต้น
4.2 การเฝ้าระวังในการสกัดทำได้โดยการสังเกตด้วยสายตา การเคาะฟังเสียง การวัดโดยเครื่องมือตรวจวัดตำแหน่งเหล็กเสริม เพื่อไม่ให้สกัดเกินความต้องการของวิศวกร
4.3 เมื่อสกัดคอนกรีตจนได้ระดับที่ต้องการแล้วให้ตรวจสอบผิวคอนกรีตตามข้อกำหนดของวิศวกร

5.ควรประเมินปริมาณคอนกรีตที่ต้องสกัดก่อนดำเนินการสกัดคอนกรีต และเมื่อสกัดคอนกรีตแล้วควรตรวจสอบปริมาณอีกครั้งเพื่อใช้ในการเตรียมวัสดุที่ใช้ซ่อมแซม

6.การตรวจสอบความเสียหายของผิวคอนกรีตภายหลังการสกัด ให้ตรวจสอบโดยการเคาะด้วยค้อน (Hammer Sounding) เป็นต้น ในกรณีตรวจพบรอยร้าวหรือความเสียหาย หรือ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณภาพของการสกัด ต้องตรวจสอบเนื้อคอนกรีตด้วยวิธีทดสอบแรงดึง(Pull-Off Test)